จุดเริ่มต้นของการสร้างอาชีพให้กับคนไทย เริ่มต้นจากลุงขาวเดินทางไปโฆษณาขายยาทั่วประเทศ ระหว่างเดินทาง ได้เห็นความยากลำบากของชาวบ้าน มีทั้งคนว่างงาน คนด้อยโอกาส และคนที่อยากจะสร้างอาชีพให้ตัวเอง แต่ไม่ได้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงไม่สามารถต่อยอดพัฒนาและสร้างอาชีพตามที่ต้องการได้ ลุงขาวจึงได้รวบรวมความรู้ด้านวิชาชีพที่สั่งสมมาทั้งหมด จากการเดินทางจากถิ่นหนึ่งไปสอนให้ชาวบ้านอีกถิ่นหนึ่งโดยไม่คิดเงิน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ มีอาชีพที่เลี้ยงปากท้องของตัวเองและช่วยสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ
โดยอาชีพที่ลุงขาวนำไปสอน ก็เป็นอาชีพง่ายๆ เช่น ทำโอ่งเก็บน้ำฝน หน้าแล้งจะได้มีน้ำใช้ หรือจะเป็นการทำลูกอม ให้เด็กๆ ในหมู่บ้านมีขนมกิน ทำขนมเค้ก และซ่อมจักรยาน เป็นต้น
รูปแบบของการสอนอาชีพจะเป็นลักษณะของการชักชวนให้เด็กๆ มาเรียนรู้ สนุกๆ แบบเล่นด้วยเรียนด้วย ส่วนของกลุ่มผู้ใหญ่ก็จะเป็นการสอนแบบแนะนำโดยใช้คำพูดหรือสำนวนสนุกสนานชวนให้ติดตามและสนใจ
สำหรับเด็กๆ และชาวบ้าน ลุงขาวจะเปรียบเสมือนแหล่งความรู้เคลื่อนที่ เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ที่คอยสอน แนะนำ ถ่ายทอดความรู้เรื่องต่างๆ ให้ชาวบ้าน
และเด็กๆ ด้วยวิธีการง่ายๆ พูดคุยเป็นกันเอง จนไปที่ไหนใครๆ ก็จะเรียกเขาว่า"ลุงขาวละออ" เพราะเป็นผู้ที่มาในนามห้างขาวละออเภส้ช จนท้ายที่สุด ใครต่อใครก็มักเรียนจนติดปากแบบสั้นๆ ว่า "ลุงขาว"
ไขอาชีพผ่านสื่อ : รายการลุงขาวไขอาชีพ
ในปี พ.ศ. 2507 ลุงขาวได้รับการชักชวนและสนับสนุนจากไพรัช กสิวัฒน์, อัตถ์ พึ่งประยูร, ภักดี รมยานนท์ และ สรวง อักษรานุเคราะห์ ให้มาจัดรายการวิทยุชื่อว่า "ชีวิตนี้ยังมีหวัง โดย ลุงขาว" ซึ่งภายหลังเปลี่ยนมาเป็น "ลุงขาวไขอาชีพ"
รูปแบบรายการจะเป็นการไปสัมภาษณ์ผู้ที่ประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อนำความรู้จากประสบการณ์จริง มาเผยแพร่ ทั้งในแง่มุมของวิธีการ กระบวนการต่างๆ ในการทำ เคล็ดลับสู่การสร้างรายได้ ตลอดจนถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างถูกวิธีที่มาจากประสบการณ์ตรง ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นตัวอย่างและเป็นกำลังใจให้ผู้ฟังที่ต้องการจะมีอาชีพเป็นของตัวเอง
ในปี พ.ศ. 2508 ลุงขาวเริ่มก้าวเข้าสู่สื่อโทรทัศน์ จัดรายการแรกคือ "กระจกเงาเยาวชน" ซึ่งเป็นรายการที่นำเยาวชน ผู้ประพฤติดี มีความสามารถนำมาสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นตัวอย่างแก่เด็ก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "รายการลุงขาวไขอาชีพ" ซึ่งมีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับรายการทางวิทยุ
รายการ "ลุงขาวไขอาชีพ" ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์กลายเป็นรายการยอดนิยมที่มีผู้คนทั่วประเทศรู้จักและติดตามมากมาย
"หนึ่งคนเริ่ม หลายคนสานต่อ : มูลนิธิลุงขาวไขอาชีพ"
ในปี พ.ศ. 2512 จอมพล ประภาส จารุเสถียร ศรัทธาในตัวลุงขาว ให้ คุณเชาวน์วัศ สุดลาภา เลขานุการของท่าน เตรียมสถานที่สันนิบาตเสรีชน อยู่ตรงข้ามโรงเรียนมาแตร์เดอี ให้ลุงขาวเปิดโรงเรียนสอนอาชีพแก่ประชาชน โดยได้ประกาศรับอาสาสมัคร วิทยากร ผู้สอนวิชาชีพต่างๆ มาร่วมกันเป็นอาจารย์ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
เปิดสอนอาชีพทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีผู้สนใจมาเรียนครั้งหนึ่ง ราวๆ 300 - 500 คน แรกเริ่มใช้ชื่อว่า "โรงเรียนสัมมาอาชีพวิทยาทาน" จากนั้นเปลี่ยนเป็น "ชมรมสัมมาอาชีพวิทยาทาน" ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ชมรมลุงขาวไขอาชีพ" และ "มูลนิธิลุงขาวไขอาชีพ" ตามลำดับ
วิชาที่เปิดสอนในช่วงแรกนั้นแม้จะยังไม่มาก แต่มีอยู่หลายสิบวิชา เช่น การประกอบอาหารประเภทต่างๆ ทั้งอาหารไทย อาหารเทศ ของคาว ของหวาน ขนม รวมทั้งป่าท่องโก๋ ซึ่งเป็นวิชาเลื่องชื่อ เพราะวิทยากรผู้สอนนั้นได้ปรับปรุงสูตรจนมีรสชาติโดดเด่น อร่อย ไม่เหมือนใคร
นอกจากนั้นยังมีสอนอาชีพประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง ถักไหมพรม ตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ-สตรี ตัดผม เสริมสวย ซ่อมรองเท้า ชุบทอง และอีกหลายวิชาอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่เรียนรู้ได้ง่าย ใช้เวลาไม่มาก
นับตั้งแต่มีการสอนมา มีคนมาเรียนไม่ต่ำกว่าล้านคน กระทั่งในปี พ.ศ. 2551 ลุงขาวได้เสียชีวิตอย่างสงบ แต่มูลนิธิลุงขาวไขอาชีพยังคงอยู่ โดยคุณบุญเรือน พงษ์บริบูรณ์ ภรรยาของลุงขาวรับเป็นประธานมูลนิธิ
ในปี w.ศ. 2557 คุณบุญเรือน พงษ์บริบูรณ์ เสียชีวิตลง มูลนิธิยังคงสืบสานเจตนารณ์ของลุงขาวต่อไป โดย คุณวัชรพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ ผู้เป็นบุตรชายเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธินับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
ขาวละออเดินหน้าลงนามข้อตกลง ร่วมพัฒนาสมุนไพรไทยด้วยนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับสมุนไพรไทยสู่ระดับโลก ด้วยการค้นคว้าวิจัย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คว้ารางวัล 1 แสนบาท โดย รับมอบรางวัลจาก ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
รางวัลสมุนไพรดีเด่นระดับชาติ จัดโดย กรมการแพทย์แผนไทยฯ กระทรวงสาธารณสุข โดย ขาวละออ คว้ารางวัลเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันอย่างเต็มภาคภูมิ