10500 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคตับ
ตับ ทำหน้าที่เสมือนเป็นโรงงานผลิตพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย รวมทั้งยังเป็นอวัยวะสำคัญในการเผาผลาญของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายด้วย โดยทำการขับออกมาทางน้ำดีลงสู่ลำไส้ปนไปกับอุจจาระ และเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยาหรือสารต่างๆ ที่ร่างกายรับประทานแล้วเหลือตกค้าง สิ่งเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตับ ทำให้เกิดโรคตับต่างๆ ได้ เช่น โรคตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมีการอักเสบบวมของเนื้อตับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตับ จุกตึงใต้ชายโครงขวา ร่วมกับมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเกิดดีซ่านขึ้นได้
ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นโรคตับอักเสบชนิดหนึ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยในปัจจุบันมีจำนวนที่ติดเชื้อเรื้อรังคิดเป็นจำนวนร้อยละ 6-10 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศไทย นั่นคือประมาณมากกว่า 3 ล้านคน โรคตับอักเสบ บี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี(HBV)การอักเสบจะทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็งและมะเร็งตับได้
โดยอาการของโรคแบ่งได้ 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ตับอักเสบเฉียบพลัน
พบว่าในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันประมาณ 1 ใน 3 เกิดจากไวรัสตับอักเสบ บี โดยผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร จุกแน่นบริเวณชายโครงขวาจากการที่ตับมีขนาดโตขึ้น ปัสสาวะมีสีเข้ม ตาเหลือง ผู้ป่วยที่มีอาการในระยะนี้จะมีโอกาสหายเป็นปกติสูงร้อยละ 90-95 และมีเพียงร้อยละ 5-10 เท่านั้นที่ไม่สามารถกำจัดไวรัสออกจากร่างกายได้ ในกรณีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากอาการดังกล่าวมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1
ระยะที่ 2 ตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการของโรค มักไม่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีอาการตัวตาเหลือง การตรวจร่างกายอาจเป็นปกติ ดังนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยดูการอักเสบของตับจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติในการทำงานของตับได้ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่มีอาการและเซลล์ตับได้รับการทำลายมากๆจะกลายเป็นโรคตับแข็งในที่สุด
ระยะที่ 3 ตับแข็ง
ในระยะแรกจะไม่มีอาการ อาจมีเพียงอ่อนเพลียกว่าปกติ หากมีอาการมากนั่นหมายถึงตับเริ่มเสื่อมลง โดยผู้ป่วยส่วนมากที่มาพบแพทย์จะมาเพราะอาการแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด เท้าบวม หรืออาจเป็นมะเร็งตับ
สมุนไพรบำรุงตับ
ลูกใต้ใบ
ลูกใต้ใบ(Phyllanthus amarus Schum & Thonn) มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา อาฟริกา และเอเชีย ทุกส่วนของลูกใต้ใบมีรสขม สรรพคุณช่วยลดไข้ทุกชนิด(ไข้หวัด ไข้ทับฤดู ไข้จับสั่น) แก้ดีซ่าน แก้ขัดเบา แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้นิ่วและโรคตับ
สรรพคุณของลูกใต้ใบ
ราก : แก้ไข้หวัด แก้ท้องเสีย แก้ปัสสาวะขัด แก้โรคดีซ่าน บำรุงธาตุ
ต้น : เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ เป็นยาฝาดสมาน แก้โรคดีซ่าน แก้ปวด ช่วยลดไข้ แก้นิ่ว แก้ฟกช้ำ ไข้จากการเปลี่ยนแปลงอาการ แก้ตับอักเสบตัวเหลือง ตาเหลือง
ผล : แก้ไข้ พิษตานซาง แก้ร้อนใน
ใบ : แก้ปวดท้อง บำรุงธาตุ ลดไข้ ขับนิ่วในไต แก้น้ำเหลืองเสีย
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของลูกใต้ใบ
ฤทธิ์ต้านไวรัสตับอักเสบ
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี
ฤทธิ์ต้านอักเสบ
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและมะเร็ง
ฤทธิ์ลดการเกิดไขมันพอกตับ
การศึกษาทางคลินิก
จากการศึกษทางคลินิกพบว่าลูกใต้ใบสามารถลดการอักเสบของตับได้โดย
การทดลองให้ผู้ป่วยชายและหญิงที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง รับประทานผลจากลูกใต้ใบทั้งต้นขนาด 1.5 ก./วัน ให้ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังทั้งสองเพศรับประทานต้นลูกใต้ใบ(ไม่ระบุขนาด) พบว่าสาร catechin จะลดระดับบิลิรูบินในพลาสมา และลด Bromsulfthalein clearance (BSP clearance)
การศึกษาในผู้ป่วยตับอักเสบจากเชื้อไวรัส 120 ราย รับประทานยาตํารับของอายุรเวท 4 ชนิด ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดรวมทั้งลูกใต้ใบด้วย (ไม่ระบุขนาดที่รับประทาน) ผู้ป่วยทุกคนไม่ได้รับยาแผนปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยส่วนมากจะมีค่า serum glutamic oxaloacetic transaminase (SGOT). Serum glutamic pyruvic transaminase (SGPT)และบิลิรูบินลดลง และมีผู้ป่วย 1 รายที่ตรวจพบ HBs Ag เป็นผลลบ
ที่มา
1.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก.2564.สาสุขชัวร์
(ออนไลน์). https://www.dtam.moph.go.th/index.php/th/trust-news/7388-trust0201.html
2.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.2562.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร(ออนไลน์). http://www.medplant.mahidol.ac.th/active/shownews.asp?id=1445&strSearch=%C5%D9%A1%E3%B5%E9%E3%BA
3.วันประเสริฐ ทุมพะลา และ ณัฏฐนัณ แสนทวีสุข. 2560.วัชพืช สู่สมุนไพร(ลูกใต้ใบ)(ออนไลน์). http://www.journal.msu.ac.th/upload/articles/article1918_19479.pdf
4.มงคล คงเสน วท.ม., อัจฉรา นิยมเดชา วท.ม., วาฟาอ์ หาญณรงค์ วท.บ., พนม สุขจันทร์ ปร.ด. การรวบรวมคุณสมบัติและประโยชน์ของต้นลูกใต้ใบ A Review of a Property and Advantage: Phyllanthus spp. วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (princess of naradhiwas university journal.) เว็บไซต์ file:///C:/Users/ASUS/Downloads/pitd_ndsi,+Journal+manager,+v5no_special-15.compressed.pdf
5.รศ.นพ.พูลชัย จรัสเจริญวิทยา.2557. “ปวดตับ” อย่ามองข้าม (ออนไลน์).https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1132
6.ผศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี .2553.ไวรัสตับอักเสบ บี(ออนไลน์).
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=367